อัครศิลปิน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นสังคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี ทรงพระราชนิพนธ์เพลง แยกและเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิดและทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วย ตลอดจนทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่างๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่างๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค เป็นเบื้องต้น ต่อมาจึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี เช่น Johnny Hodges และ Sidney Berchet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญ และทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz เป็นอย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเป็ต รวมทั้งเปียโน และกีตาร์ ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลง และเพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์ เพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่ขณะประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อเสด็จฯ นิวัติพระนครใหม่ๆ นั้นเป็นเพลงในแนว "บลูส์" (Blues) ซึ่งเป็นสไตล์หนึ่งของดนตรีแจ๊ส ที่เริ่มเป็นที่นิยมในสหรัฐตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เสียงโน้ตที่แปร่งหูในแนวบลูส์ และช่วงจังหวะที่ขัดธรรมชาติของเพลงในบางครั้ง ได้สร้างมิติใหม่ให้แก่วงการเพลงในยุคนั้น เพลงบูลส์ที่รำพันถึงความโศกเศร้าและคับแค้นใจจึงแฝงไว้ด้วยคติธรรมของชีวิตจริงอยู่ด้วยเสมอ ดังเช่น บทพระราชนิพนธ์ "ชะตาชีวิต" ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขณะที่เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ทำนองเพลงอันเรียบง่ายที่อาศัยการดำเนินเสียงประสานของคอร์ดบลูส์ จำนวน ๑๒ ห้อง ซึ่งเรียกว่า "Blues Progression" เป็นหลักสำคัญในการพระราชนิพนธ์เพลงประเภทนี้
นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ในช่วงนี้อีก คือ "ดวงใจกับความรัก" และ "อาทิตย์อับแสง" ซึ่งมีลักษณะท่วงทำนองที่ต่างไปจากบลูส์รุ่นแรกๆ คือ ทรงเปลี่ยนทำนองให้ระดับเสียงมีช่วงกว้างขึ้น และ ทรงพระราชนิพนธ์ให้ทำนองมีลีลาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยใส่คำร้องได้อย่าง "น่ารัก" ทำให้เพลงทั้งสองเพลงนี้มี "ชีวิตชีวา" เพิ่มขึ้น และแตกต่างจากเพลงไทยสากลในยุคเดียวกัน
บทเพลงพระราชนิพนธ์ "สายฝน" เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการที่ทรงมีจินตนาการสร้างทำนองให้แตกต่างกันหลายประเภทได้อย่างไพเราะไม่ซ้ำแบบผู้ใด และการที่เลือกใช้ลีลาที่สง่างามแต่อ่อนโยนของจังหวะวอลซ์ ทำให้ "สายฝน" ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ลีลาวอลซ์เพลงแรก ติดอันดับเพลงลีลาศยอดนิยมของเมืองไทยในยุคนั้น
บทเพลงพระราชนิพนธ์
เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแล้วจึงใส่คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองได้แก่ Echo, Still on My Mind, Old Fashioned Melody, No Moon และ Dream Island ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากคำร้องภาษาไทย ได้แก่ เพลงความฝันอันสูงสุด และ เราสู้ นอกจากนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และโปรดเกล้าฯ ให้มีผู้แต่งคำร้องประกอบเพลงพระราชนิพนธ์หลายท่าน ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา นายศุภร ผลชีวิน นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตนพันธุ์) หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เพลงพระราชนิพนธ์ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๙-๒๕๓๘ มี ๔๘ เพลง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความรู้อย่างแตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ ทรงเป็นผู้นำในด้านการประพันธ์ทำนองเพลงสากลของเมืองไทย โดยทรงใส่คอร์ดดนตรีที่แปลกใหม่และซับซ้อนทำให้เกิดเสียงประสานที่เข้มข้นในดนตรี เมื่อประกอบกับลีลาจังหวะเต้นรำที่หลากหลาย ทำให้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงบรรเลงได้อย่างไพเราะหลายบท กลายเป็นเพลงอมตะของไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทรงมีจินตนาการสร้างสรรค์ไม่ซ้ำแบบผู้ใด และแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา
เพลงพระราชนิพนธ์แต่ละเพลงนั้น ล้วนแสดงออกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยถ้วนหน้า เช่น เพลงยามเย็น พระราชทานแก่สมาคมปราบวัณโรค เพื่อนำออกแสดงเก็บเงินบำรุงการกุศล เพลงใกล้รุ่ง บรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ในงานของสมาคมเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย เพลงยิ้มสู้ พระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพลงลมหนาว พระราชทานในงานประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษในพระบรมราชูปถัมภ์ เพลงพรปีใหม่ พระราชทานแก่พสกนิกรเนื่องในวันปีใหม่ เพลงเกิดเป็นไทยตายเพื่อไทย เพลงความฝันอันสูงสุด และเพลงเราสู้ พระราชทานแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ Kinari Suite พระราชทานเพื่อใช้ประกอบการแสดงบัลเล่ต์ชุดมโนราห์ และมีเพลงประจำสถาบันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ได้แก่ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เพลงธรรมศาสตร์ เพลงเกษตรศาสตร์ เพลงธงชัยเฉลิมพล ราชวัลลภ และ ราชนาวิกโยธิน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรวมนักดนตรีสมัครเล่นมารวมกันตั้งเป็นวงขึ้นเป็นครั้งแรก ขณะที่ทรงประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ประกอบด้วยพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงคุ้นเคย และเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) ขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ เพื่อให้เป็นสื่อกลางที่ให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ในด้านต่างๆ พระราชทานชื่อว่า “วงลายคราม” ก็ได้มีการออกอากาศส่งวิทยุกระจายเสียงกับวงดนตรีต่างๆ ด้วย ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้นักดนตรีรุ่นหนุ่มมาเล่นดนตรีร่วมกับวงลายคราม จึงเกิดเป็น วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ขึ้น วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์มีลักษณะพิเศษคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกอากาศกระจายเสียงทางสถานีวิทยุประจำวันศุกร์ และยังทรงจัดรายการเพลงเอง ทรงเลือกแผ่นเสียงเองในระยะแรก บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลง และจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เองทุกวันศุกร์ และวันอาทิตย์เป็นวันฝึกซ้อม วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ยังเป็นวงดนตรีที่โปรดให้ไปร่วมบรรเลงในงาน “วันทรงดนตรี” ตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆ กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เพื่อทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิตนักศึกษาเป็นการส่วนพระองค์ ก่อนที่จะยกเลิกไป เพราะทรงมีพระราชกรณียกิจเพิ่มมากขึ้น
ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงตั้งแตรวง “สหายพัฒนา” ขึ้นอีกวงหนึ่ง โดยโปรดฯ ให้รวบรวมผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และโดยเสด็จฯ ในการพัฒนาภูมิภาคต่างๆ เป็นประจำ เช่น นักเกษตรหลวง คณะแพทย์อาสาสมัคร ข้าราชการในพระองค์ ราชองค์รักษ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน พระราชทานเวลาฝึกสอนในช่วงเวลาทรงออกพระกำลังในตอนค่ำของทุกๆ วัน ทรงตั้งแตรวงขึ้นสำเร็จ และยังคงเล่นดนตรีเป็นประจำทุกค่ำของวันศุกร์ และวันอาทิตย์เป็นวันซ้อมร่วมกับนักดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ณ สถานี อ.ส. และเกือบทุกเย็นกับวงสหายพัฒนา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา จนถึงปัจจุบัน
ลำดับปีพุทธศักราชที่ทรงพระราชนิพนธ์เพลง
๒๔๘๙ เพลง สายฝน (Falling Rain), แสงเทียน (Candle Light Blues), ยามเย็น (Love at Sundown), ใกล้รุ่ง (Near Dawn)
๒๔๙๐ เพลง ชะตาชีวิต (The H.M. Blues), ดวงใจกับความรัก (Never Mind the H.M. Blues)
๒๔๙๒ เพลง มหาจุฬาลงกรณ์ (Chulalongkorn Alma Mater), อาทิตย์อับแสง (Blue Day), เทวาพาคู่ฝัน (Dream of Love Dream of You), คำหวาน (Sweet Words)
๒๔๙๓ เพลง แก้วตาขวัญใจ (Lovelight in My Heart)
๒๔๙๕ เพลง พรปีใหม่ (New Year Greetings), ยิ้มสู้ (Smiles), มาร์ชธงชัยเฉลิมพล (The Colours March)
๒๔๙๖ เพลง ยามค่ำ (Twilight), มาร์ชราชวัลลภ (The Royal Guards March)
๒๔๙๗ เพลง ศุกร์สัญลักษณ์ (Friday Night Rag), เมื่อโสมส่อง (I Never Dreamed), ลมหนาว (Love in Spring)
๒๔๙๘ เพลง Oh I Say, Can't You Ever See, Lay Kram goes Dixie
๒๔๙๙ เพลง ค่ำแล้ว (Lullaby)
๒๕๐๐ เพลง สายลม (I Think of You), ไกลกังวล
๒๕๐๑ เพลง แสงเดือน (Magic Beams)
๒๕๐๒ เพลง ฝัน (Somewhere Somehow), Alexandra, มาร์ชนาวิกโยธิน (The Royal Marines March), มโนราห์ (The Kinari Suite): The Nature Waltz / The Hunter / Kinari Waltz, มโนราห์: ภิรมย์รัก (The Kinari Suite: A Love Story)
๒๕๐๖ เพลง When (ทำนองเพลงไกลกังวล), ธรรมศาสตร์ (Thammasart Alma Mater)
๒๕๐๘ เพลง ในดวงใจนิรันดร์ (Still on My Mind), เกาะในฝัน (Dream Island), Old-Fashioned Melody, No Moon
๒๕๐๙ เพลง เพลินภูพิงค์, แว่ว (Echo), เกษตรศาสตร์ (Kasetsart Alma Mater)
๒๕๑๐ เพลง เตือนใจ (ทำนองเพลง Old-Fashioned Melody)
๒๕๑๒ เพลง ไร้เดือน (ทำนองเพลง No Moon)
๒๕๑๔ เพลง ความฝันอันสูงสุด
๒๕๑๖ เพลง แผ่นดินของเรา (ทำนองเพลง Alexandra), เราสู้
๒๕๓๘ เพลง รัก - เมื่อเดือนมกราคม 2538 ทรงพระราชทานเพลง "รัก" ทำนองในพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และคำร้องในพระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ทั้งเทป แผ่นเสียง และซีดีเพลงพระราชนิพนธ์, เมนูไข่ (ไข่เจียว)
ฐานข้อมูลเพลงของพ่อ
เป็นความตั้งใจสูงสุดของฝ่ายหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ต้องการรวบรวมผลงานบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เอาไว้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แก่ผู้สนใจได้เข้าถึง ซึมซับและรับทราบถึงพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์
ภายในฐานข้อมูล ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเพื่อรับฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์พร้อมอ่านเนื้อร้องประกอบผ่านช่องทางการค้นหาหรือเมนูห้องดนตรี ที่ขณะนี้ยังรวบรวมไว้เฉพาะบทเพลงภาษาไทยทั้งสิ้น 48 บทเพลง (รวมชุด 51 บทเพลง) พร้อมทั้งยังได้รับชมภาพถ่ายพระอิริยาบถขณะที่พระองค์ทรงดนตรีในวาระต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่หาชมได้ยากยิ่ง
หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สำนักวิทยบริการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าฐานข้อมูล "เพลงของพ่อ" นี้จะเป็นอีกหนึ่งบริการออนไลน์ที่อำนวยความสะดวกและสร้างความประทับใจให้ผู้ใช้บริการทุกท่านต่อไป